อาการนอนไม่หลับ หลายคนคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะบางทีก็มีเรื่องให้คิดจนนอนไม่หลับ แต่บางคนมีอาการนอนไม่หลับขั้นรุนแรง และยาวนานมาก จนเข้าขั้นเป็น โรคนอนไม่หลับ แล้วรู้หรือไม่ว่าโรคนอนไม่หลับมันส่งผลเสียต่อชีวิตประจำวันเราอย่างไรบ้าง
อาการนอนไม่หลับ มีหลายรูปแบบ ทั้งเข้านอนแล้วหลับยาก ตื่นกลางดึกแล้วหลับต่อไม่ได้ ตื่นเช้ามืดกว่าปกติแล้วหลับต่อไม่ได้ หรือหลับๆ ตื่นๆ ผู้ที่นอนไม่หลับ หรือหลับได้ไม่เพียงพอ มักจะมีอาการอ่อนเพลียในตอนกลางวัน สมองไม่ปลอดโปร่ง หงุดหงิด ง่วงซึม หรือหลับมากในตอนกลางวัน ประสิทธิภาพในการเรียน ทำงานมักจะลดลง นอกจากนี้อาจมีอาการของโรคต่างๆ ที่เป็นสาเหตุของอาการ นอนไม่หลับด้วย เช่น ตอนกลางคืนนอนกรนเสียงดัง หรืออาจหยุดหายใจเป็นพักๆ หรืออาจมีอาการของโรคซึมเศร้า คือรู้สึกซึมเศร้า เบื่อหน่าย ท้อแท้ หดหู่ เบื่ออาหาร เบื่อชีวิต คิดอยากตาย
การรักษาอาการ นอนไม่หลับ อย่างแท้จริงนั้น
🎵1. เราจะต้องค้นหาสาเหตุ และกำจัดสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนไม่หลับก่อน ถ้าเจ็บป่วยด้วยโรคทางกาย หรือโรคทางจิตเวช ก็ต้องรักษาโรคเหล่านั้นให้ดีขึ้น อาจใช้ยาช่วยให้นอนหลับในช่วงเริ่มต้น และใช้ยาเป็นระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เมื่อความเจ็บป่วยทางร่างกายหรือความเจ็บป่วยทางจิตเวชดีขึ้น อาการ นอนไม่หลับ ก็จะหมดไป และสามารถนอนหลับได้ดีขึ้น
🎵2. ปฏิบัติตนตามสุขลักษณะการนอนที่ดี ได้แก่ จัดห้องนอนให้เหมาะแก่การนอนหลับ เช่น ไม่ร้อนเกินไป ไม่หนาวหรือเย็นเกินไป ไม่ให้มีเสียงดังอึกทึก ควรมีบรรยากาศที่สงบเงียบ หรืออาจมีเสียงเพลงบรรเลงเบาๆ เป็นต้น ใช้ห้องนอนสำหรับการนอนเท่านั้น ไม่ใช้ห้องนอนทำกิจกรรมอื่นๆ เช่น รับประทานอาหาร เล่นเกมส์ต่างๆ การดื่มนมอุ่นๆ 1 แก้ว หรือรับประทานกล้วย 1 ผล ก็อาจช่วยให้หลับได้ดีขึ้น หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่กระตุ้นสมอง เช่น ชา กาแฟ น้ำอัดลมโคล่า เครื่องดื่มชูกำลังต่างๆ ในตอนบ่าย ตอนเย็น หรือช่วงก่อนนอน หลีกเลี่ยงการดื่มสุรา ซึ่งรวมถึง เหล้า เบียร์ ไวน์ อย่างต่อเนื่องทุกวัน เพราะมีสารเคมีที่ออกฤทธิ์ต่อสมอง ทำให้นอนไม่หลับหรือหลับไม่สนิทได้ ในกรณีที่ดื่มติดต่อกันนานๆ เพราะถึงแม้ว่าแอลกอฮอล์จะช่วยให้การนอนหลับง่ายขึ้นบ้าง แต่การใช้อย่างต่อเนื่องจะรบกวนต่อการนอนหลับในที่สุด การออกกำลังกายเป็นประจำทุกวันจะช่วยให้การนอนหลับดีขึ้น แต่ต้องหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักในตอนเย็นหรือก่อนนอน
🎵3. ยาช่วยให้นอนหลับ ควรรับประทานเป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องนานเกิน 2-6 สัปดาห์ เพราะอาจทำให้ติดยา หรือต้องพึ่งยาตลอดไป หลายคนจะคิดถึงการใช้ยานอนหลับ และในบางคนจะมีความรู้สึกกลัวการใช้ยานอนหลับ กลัวจะติดยา หยุดยาไม่ได้ กลัวว่ายาอาจไปทำลายสมองบ้าง เป็นต้น ทำให้ไม่กล้าและไม่อยากที่จะรักษา แต่จริงๆ แล้วยาที่ใช้รักษาโรค นอนไม่หลับ นั้น ไม่จำเป็นที่จะต้องเป็นยานอนหลับแต่เพียงอย่างเดียว และถึงแม้จะต้องมีการใช้ยานอนหลับร่วมด้วย ผลของการใช้ยาก็ไม่น่ากลัว เหมือนกับที่บางคนคิด โดยเฉพาะถ้าอยู่ในความดูแลของแพทย์
อาหารที่ช่วยให้นอนหลับ
♨1. เครื่องดื่มอุ่นๆ ก่อนนอน ประเภทมอลต์สกัด เช่น โอวัลติน หรือ ไมโล (ไม่ต้องหวาน)
♨2. เครื่องดื่มชาสมุนไพรต่าง เช่น แคโมไมล์ ไลม์บลอสซัม วาเลอเรียน มะตูม เก๊กฮวย เป็นต้น (ยกเว้นในผู้ที่มีปัญหาปัสสาวะบ่อย อาจทำให้ปวดปัสสาวะกลางดึก ต้องตื่นขึ้นมาเข้าห้องน้ำ แล้วนอนต่อไม่หลับได้ง่ายๆ)
♨3. นมชนิดหวานทำให้หลับได้ง่าย เพราะน้ำตาลจะช่วยทำให้เซลล์สมองดูดซึมกรดอะมิโน ทริปโตฟาน จากกระแสโลหิต ให้เปลี่ยนเป็น เซโรโทนินเพื่อช่วยให้ผ่อนคลาย
♨4. อาหารจำพวกแป้ง โดยแป้งมีฤทธิ์คล้ายยาระงับความวิตกกังงล หรือทำให้กลูโคสในกระแสเลือดสูงขึ้น กระตุ้นการหลั่ง Serotonin
♨5. น้ำผึ้ง ซึ่งเคยใช้เป็นยาระงับประสาทอ่อนๆ มานานแล้ว โดยชงผสมน้ำผึ้งเล็กน้อยในนมอุ่นๆ หรือ ชาสมุนไพร
ขอขอบคุณข้อมูลจาก health.kapook.com