โซเดียมคืออะไร โซเดียม คือแร่ธาตุชนิดหนึ่งที่ร่างกายต้องการ และไม่สามารถผลิตได้เอง ดังนั้นจึงจำเป็นต้องได้รับจากการอาหารที่เราทานเข้าไป โซเดียมจัดเป็นแร่ธาตุที่มีความสำคัญในกระบวนการต่างๆ ของร่างกายโดยเฉพาะเรื่องการรักษาสมดุลน้ำในร่างกายของเรา นอกจากนี้ยังเกี่ยวข้องกับกระบวนการส่งสัญญาณในระบบประสาทและกล้ามเนื้อ และสมดุลความเป็นกรดด่างของร่างกาย
กินโซเดียมมากเกินไปส่งผลอย่างไรกับสุขภาพ การบริโภคโซเดียมสูงจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคต่างๆ ดังนี้
💉1.โรคความดันโลหิตสูงซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคหัวใจและหลอดเลือด และโรคหลอดเลือดสมองตีบตัน โดยมีการศึกษาพบว่าการลดการบริโภคโซเดียมเพียงเล็กน้อย (ประมาณ 700-800 มิลลิกรัมต่อวัน) สามารถลดอัตราการเกิด โรคหัวใจและหลอดเลือด 20% และลดอัตราตายได้ 5-7% อย่างมีนัยสำคัญ
💉2.โรคไตวายเรื้อรัง เนื่องจากหากร่างกายมีได้รับโซเดียมมากเกินไปจะส่งผลให้โปรตีนถูกขับออกมาทางปัสสาวะเพิ่มขึ้น ทำให้การทำงานของไตเสื่อมลง
💉3.โรคกระดูกพรุน เนื่องจากการรับประทานโซเดียมมากจะส่งผลทำให้เกิดการสูญเสียธาตุแคลเซียมผ่านปัสสาวะ
💉4.โรคมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยการที่ได้รับโซเดียมมากเกินไปจะส่งผลเร่งการเติบโตของแบคทีเรีย Helicobacter pylori ซึ่งเชื้อนี้จะไปทำลายเยื่อบุกระเพาะอาหาร ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคมะเร็งกระเพาะอาหาร
💉5.โรคหอบหืด การรับประทานโซเดียมสูง ส่งผลให้เยื่อบุผนังหลอดลมมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อสารภูมิแพ้ และสิ่งแวดล้อมมากกว่าคนปกติ (Bronchial hyper-reactivity)
💉6.น้ำหนักตัวเกินหรืออ้วน แม้ว่าการบริโภคโซเดียมมากไม่ได้ส่งผลโดยตรงแต่การบริโภคโซเดียมในอาหารต่างๆมาก มีผล ให้มีการบริโภคเครื่องดื่มทั้งแบบเหลวและแบบที่มีรสหวานมากขึ้น
อาหารเจที่ควรหลีกเลี่ยง หรือลดการบริโภคให้ได้มากที่สุด มีอะไรบ้าง
⚡ผักกาดดอง และผักดองอื่นๆ ไม่ว่าจะดองเค็ม หรือดองหวาน
⚡กาน่าฉ่าย
⚡เต้าหู้ยี้
⚡ผงชูรส
⚡อาหารเจกระป๋องทั้งหลายแหล่
⚡ซาลาเปา ขนมปังปรุงรสต่าง และอาหารอื่นๆ ที่ใส่ผงฟู
⚡อาหารแปรรูปทุกอย่าง เช่น ไส้กรอกเจ แฮมเจ (ไม่เจก็มีโซเดียมเยอะ) ผลไม้อบแห้ง
⚡เครื่องปรุง และผงปรุงรสต่างๆ เช่น ซอสหอยนางรมเจ ซอสพริก ซอสมะเขือเทศ ซีอิ้ว
⚡มันฝรั่งทอดกรอบ และขนมกรุบกรอบบางชนิด
⚡บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป
⚡เกลือ
บางอย่างสามารถเลี่ยงได้ ก็ควรเลี่ยง แต่หากบางอย่างจำเป็นต้องทาน หรือต้องใช้เพื่อเพิ่มรสชาติให้อาหาร อย่างเช่น เครื่องปรุงรสต่างๆ ควรบริโภคแต่น้อย อย่าปรุงรสจัดเกินไป หรือเลือกเครื่องปรุงที่ระบุไว้ว่า “โซเดียมต่ำ” แทน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก health.sanook.com และ whatdidsheeat.com