หากพูดถึงอาหารเพื่อสุขภาพแล้ว นิยามของแต่ละคนอาจจะแตกต่างกันออกไป แต่เชื่อว่าหนึ่งในเมนูอาหารเพื่อสุขภาพที่นอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อร่างกายแล้ว ยังส่งผลถึงจิตใจอีกด้วย นั่นคือการทาน “อาหารเจ” หรืออาหารแบบ “มังสวิรัติ”
อาหารเจและอาหารมังสวิรัติมีความแตกต่างกันอยู่บ้างตามกฎและหลักเกณฑ์ เริ่มจากอาหารเจ ส่วนใหญ่แล้วจะนิยมทานกันในช่วงเทศกาลกินเจซึ่งในหนึ่งปีจะมีด้วยกันทั้งหมด 10 วัน วัตถุดิบหลักในการประกอบอาหารเจ คือ แป้ง เต้าหู้ ซีอิ๊วถั่วเหลือง ถั่วต่างๆ และผักนานาชนิด แต่ยกเว้นผักที่มีกลิ่นฉุนอย่าง หอม กระเทียม กุยช่าย ผักชี และเครื่องเทศที่เผ็ดร้อน เพราะถือว่าอาหารดังกล่าวทำให้เกิดกำหนัด และแน่นอนเมนูอาหารเจทุกอย่างจะต้องปราศจากเนื้อสัตว์หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากสัตว์ ไม่ว่าจะเป็น เนื้อ นม ไข่
ส่วนอาหารแบบมังสวิรัตินั้นจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ทานมังสวิรัติแบบเคร่งครัด กลุ่มนี้จะไม่บริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์เลย รวมถึงเครื่องปรุงที่ทำมาจากสัตว์ เช่น กะปิ น้ำปลา ส่วนกลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มที่ทานผลิตภัณฑ์จากสัตว์อยู่ เช่น นม และ ไข่ แต่จะปราศจากการบริโภคเนื้อสัตว์
ประโยชน์ของการทานมังสวิรัตพบว่า ผู้ที่กินอาหารมังสวิรัติส่วนใหญ่จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคอ้วน
สำหรับการทานอาหารประเภทอาหารเจหรือมังสวิรัตินั้น บางท่านอาจคิดว่าจะเป็นการทำให้ร่างกายขาดสารอาหารโดยเฉพาะโปรตีน แต่สารอาหารจำพวกนี้ก็สามารถทดแทนได้ด้วยการทานอาหารประเภท ถั่ว ธัญพืช เต้าหู้ หรือเห็ดต่าง ๆ นอกจากนี้การทานอาหารทั้งสองประเภทจะทำให้ได้รับวิตามินและเกลือแร่จากการทานผักและผลไม้เป็นประจำ สำหรับผู้สูงอายุ ยิ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อสุขภาพ เพราะจะช่วยในเรื่องของระบบการเผาผลาญและระบบการขับถ่าย อีกทั้งยังเป็นการปรับสภาพร่างกายและล้างพิษไปในตัวอีกด้วย
TIPS
- ทานธัญพืช ข้าว ธัญพืชเมล็ดแห้ง ถั่วเมล็ดแห้ง เช่น ถั่วเหลือง ถั่วเขียว ถั่วดำ และถั่วลิสง จะให้สารอาหารประเภทโปรตีน
- ไขมันจะได้จาก น้ำมันพืช น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันดอกทานตะวัน
- ทานผักและผลไม้ทุกชนิด ได้รับสารอาหารจำพวกเกลือแร่
- ถั่วหมัก เต้าเจี้ยว ซีอิ๊ว และสาหร่าย ให้วิตามินบี 12