เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมามีข่าวนักท่องเที่ยวถูกพิษแมงกะพรุนกล่องจนทำให้เสียชีวิต เหตุสลดดังกล่าวเกิดขึ้นในงานเทศกาลฟูลมูนปาร์ตี้ ที่เกาะพะงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อนๆอาจจะคิดว่า แค่แมงกะพรุนกัดทำให้ถึงขั้นเสียชีวิตเลยเหรอ งั้นวันนี้ Zappnuar Story จะพาเพื่อนๆมารู้จักกับเจ้าแมงกะพรุนกล่อง หรือ ตัวต่อทะเล นักพ่นพิษแห่งท้องทะเลกันค่ะ
แมงกะพรุนกล่อง มีชื่อเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ตัวต่อทะเล” หรือนักพ่นพิษแห่งท้องทะเล เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจัดอยู่ในไฟลัม Cnidaria กลุ่ม Cubozoa ลำตัวคล้ายร่มหรือระฆังคว่ำ ที่ด้านสูงมากกว่าด้านกว้าง ลักษณะโปร่งใส มีสีฟ้าอ่อน น้ำตาล เหลือง หรือชมพู หนวดยื่นออกจากมุมทั้ง 4 มุม มีความยาวได้ถึง 3 เมตร หนวดแต่ละเส้นมีเซลล์พิษอยู่ประมาณ 5,000 เซลล์ แมงกะพรุนกล่องสามารถเคลื่อนที่พุ่งขึ้นสู่ด้านบนได้อย่างรวดเร็ว และว่ายน้ำได้เร็วถึง 5 ฟุตต่อวินาที จึงสามารถจับปลา และสัตว์น้ำที่มีขนาดเล็กกว่ากินเป็นอาหารได้อย่างง่ายดาย อาศัยอยู่ในทะเลเขตอุ่น มักพบได้ตามแนวชายฝั่งออสเตรเลียตอนเหนือและทั่วอินโดแปซิฟิก เช่น ตามชายฝั่งของประเทศออสเตรเลียตอนเหนือ ปาปัวนิวกินี ฟิลิปปินส์ หมู่เกาะฮาวาย ฯลฯ นอกจากนี้ยังมีรายงานว่าในปัจจุบันแพร่กระจายมาทางฝั่งเอเชียจนถึงประเทศไทย พบได้ที่เกาะลันตา, อ่าวโล๊ะซามะ อ่าวพีพี อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี จ.กระบี่ และอ่าวน้ำบ่อ จ.ภูเก็ต, หาดชะอำ จ.เพชรบุรี รวมถึงเกาะเต่า เกาะสมุย และเกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี โดยเข้าสู่พื้นที่ชายฝั่งด้วยกระแสน้ำ
แมงกะพรุน มีหนวดซึ่งเป็นที่อยู่ของกระเปาะเก็บเข็มพิษ ใช้ในการป้องกันตัว และจับเหยื่อ ภายในกระเปาะจะมีเข็มพิษขดอยู่ เมื่อหนวดของแมงกะพรุนสัมผัสกับผิวหนังจะกระตุ้นให้กระเปาะปล่อยเข็มพิษออกมา พร้อมกับปล่อยพิษออกมาด้วย พิษของแมงกะพรุนเป็นพิษในกลุ่ม Proteolytic Enzyme ซึ่งมีพิษต่อผิวหนัง ระบบประสาท และหัวใจ
ลักษณะการออกฤทธิ์ของพิษแมงกะพรุนกล่อง
1.ทำให้เซลล์ผิวหนังบริเวณที่สัมผัสตายได้
2.ทำให้เซลล์เม็ดเลือดแดงแตกจากพิษที่ซึมเข้าสู่กระแสเลือด ผลที่ตามมาคือเกิดภาวะไตวายเฉียบพลัน
3.ผลต่อหัวใจ ทำให้หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือหัวใจหยุดเต้น และกดระบบประสาททำให้หยุดหายใจได้
วิธีการปฐมพยาบาลผู้ที่สัมผัสแมงกะพรุนกล่อง
กรณีที่ผู้บาดเจ็บไม่รู้สึกตัวดี (หายใจไม่ปกติ และชีพจรเต้นไม่ปกติ)
1. ทำการปั๊มหัวใจให้ผู้ป่วยฟื้นขึ้นมาก่อน โดยกดบริเวณหน้าอกบริเวณเหนือลิ้นปี่เล็กน้อย
2. บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู นาน 30-60 วินาที (ห้ามใช้น้ำจืดเพราะเป็นการกระตุ้นพิษ)
3. นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดร่างกายออกโดยหลีกเลี่ยงการถูบริเวณแผล
4. นำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
กรณีที่ผู้บาดเจ็บรู้สึกตัวดี (หายใจปกติ และชีพจรปกติ)
1. บริเวณที่สัมผัสแมงกะพรุนให้ราดด้วยน้ำส้มสายชู นาน 30-60 วินาที (ห้ามใช้น้ำจืดเพราะเป็นการกระตุ้นพิษ)
2. นำหนวดแมงกะพรุนที่ติดตามร่างกายออกโดยหลีกเลี่ยงการขัดถูบริเวณแผล
3. นำตัวส่งโรงพยาบาลให้เร็วที่สุด
อันตรายขนาดนี้เพื่อนๆ ก็อย่าลืมระมัดระวังตัวเมื่อลงเล่นน้ำทะเลด้วยนะคะ อย่างไรก็ตาม ทางทีมงาน Zappnuar.com ก็ขอแสดงความเสียใจกับญาติผู้เสียชีวิตด้วยนะคะ ติดตาม Zappnuar Story ได้ในครั้งต่อไปที่ Zappnuar.com หรือติดตามผ่านช่องทางต่างๆ ตามนี้เลยค่ะ line :@zappnuar.com Facebook : zappnuar.com Twiter : @zappnuar Instragram : zappnuar_ Google + : zappnuar
ขอบคุณข้อมูลจาก fisheries.go.th