จากตัวเลขส่งออกเดือนพฤษภาคม 2558 ที่ติดลบหนักถึง 5.01% ซึ่งเป็นการติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ทำให้ 5 เดือนแรกปีนี้ ส่งออกไทยติดลบ 4.2% หรือมีมูลค่า 88,694 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยติดลบจากสินค้าส่วนใหญ่ในภาคอุตสาหกรรม ภาคเกษตรและเกษตรแปรรูป ติดลบเฉลี่ย 10% ด้านตลาดส่งออกส่วนใหญ่ก็ติดลบแม้ตลาดความหวัง อย่างอาเซียน ก็ติดลบ 7.2% ญี่ปุ่นติดลบ 4.1% เกาหลีใต้ติดลบ 15.9% สหภาพยุโรป (อียู) ติดลบ 13.7% ที่ยังดีอยู่แต่ขยายตัวก็ไม่สูง ทั้งสหรัฐ โต 0.4% จีน โต 3.3% ออสเตรเลียโต 18.2% และกลุ่มซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา-ลาว-เมียนมาร์-เวียดนาม) โต 3.5% ผนวกกับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค ยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อ) ติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 เช่นกัน ซึ่งทางวิชาการระบุแล้วว่าเป็นภาวะเงินฝืดทางเทคนิค นั่นสะท้อนถึงประชาชนทั่วไปยังไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจ และชะลอการใช้จ่ายหรือทำกิจกรรมที่ต้องเพิ่มรายได้
เมื่อดูองค์ประกอบด้านอื่นๆ ต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย ทั้งการลงทุนภาครัฐ ยังถูกมองว่าล่าช้ากว่าแผนงานที่ได้ระบุไว้ ไม่ว่าจะการก่อสร้างโครงการด้านขนส่ง โครงการปรับปรุงสนามบิน หรือ การประมูล 4 จี และยังไม่มั่นใจต่อแผนการดึงตัวเลขส่งออกในอนาคต ทำให้ภาคลงทุนของเอกชนชะงักลง ดูได้จากตัวเลขการนำเข้าในกลุ่มทุนและกลุ่มวัตถุดิบเพื่อการผลิต ลดลงอย่างมาก จนทำสถิติใหม่ต่ำสุดอีกครั้งรอบ 10 ปี ล้วนเป็นแรงกดดันต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น จะพูดว่าเกิดความรู้สึกระส่ำก็ได้ เพราะหลังจากตัวเลขต่างๆ ออกเผยแพร่สู่สาธารณะ ผลที่ตามมา คือ ทุกหน่วยงานรัฐ เอกชน และนักวิชาการ ต่างออกมาส่งสัญญาณถึงการปรับลดประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ทั้งสิ้น และทั้งหมดเห็นพ้องว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ ขยายตัวไม่เกิน 3% แน่นอน
เริ่มจากสภาผู้ส่งออกสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย(สภาผู้ส่งออก) ออกแถลงปรับลดคาดการณ์ตัวเลขส่งออก จากเดิมมองโอกาสเป็น 0% เป็นติดลบ 2% เพราะเชื่อว่าครึ่งปีมูลค่าการส่งออกก็จะไม่เพิ่มจากครึ่งปีแรกมากนัก ซึ่งหากจะให้ส่งออกปีนี้เป็น 0% เฉลี่ยต่อเดือนของครึ่งปีหลังจะผลักดันมูลค่าให้เกิน 19,200 ล้านเหรียญสหรัฐ ตรงกันข้าม ดูความเป็นไปได้ หากมูลค่าการส่งออกต่ำกว่าค่าเฉลี่ยตอนนี้คือ 18,700 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่อเดือน การส่งออกจะติดลบทันที 3.5%
ตามด้วยผลวิเคราะห์จากสถาบันการเงินและนักวิชาการ ปรับลดมุมมองการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ดีสุดไม่เกิน 3% แล้วทั้งสิ้น ยกเว้น ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และหอการค้าไทย ยังมองในภาพบวกโต 3.2% แม้ส่งออกไทยอาจติดลบ 1-2% เช่นเดียวกับกระทรวงพาณิชย์ ยังคงเป้าหมายจะผลักดันส่งออกโต 1.2% บนพื้นฐานเศรษฐกิจโต 3% แม้กระทั่งทีม ครม.เศรษฐกิจ ก็เริ่มหวั่นไหว ออกมาเปรยๆ ถึงว่าหากการส่งออกติดลบหนัก ห่วงกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่หวังไว้ 3-4% คงไม่ได้เห็น ดังนั้น ปลายเดือนกรกฎาคมนี้ ก็จะเห็นการปรับตัวเลขเศรษฐกิจใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เดิมคาดการณ์โตเกิน 3% สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ที่เดิมคาดไว้ 3.7%
โดยทุกภาคส่วนมองบนปัจจัยลบที่ยังมีอยู่ ทำให้เศรษฐกิจไทยหดตัว ตั้งแต่ความผันผวนของเศรษฐกิจและการเมืองโลกยังสูง เศรษฐกิจของประเทศคู่ค้ายังฟื้นตัวต่ำกว่าที่คาดการณ์ ศักยภาพและขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศไม่ดีขึ้น ปัญหาด้านโลจิสติกส์ต้นทุนสูงและไม่เพียงพอ ปัจจัยที่ดูจะเข้มข้นขึ้นในช่วงนี้ คือวิกฤตหนี้ของกรีซอาจลุกลามไปทั่วยุโรป
สถานการณ์ภัยแล้งสลับการเกิดพายุยังไม่อาจประเมินได้ว่าจะก่อความเสียหายต่อผลผลิตและรายได้รากหญ้าแค่ไหนหรือค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง และดอกเบี้ยนโยบายปรับลดถึง 2 รอบ ก็ยังส่งผลโดยตรงต่อการส่งออก ซึ่งทางวิชาการระบุว่าต้องใช้เวลาหลังจากปรับลด 3-4 เดือนอย่างช้า หรือจนกว่าสัญญาที่ทำไว้เดิมจะหมดลง รวมถึงต้องต่อสู้กับการเพิ่มกฎระเบียบทางการค้าของนานาชาติไม่แค่ปัญหาองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ปักธงแดงไทย ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายขาดการรายงานและไร้การควบคุม (ไอยูยู) ซึ่งจะชี้ชะตาในปลายไตรมาส 3
เฉพาะไอยูยูหากถูกขึ้นบัญชีดำไทยจะกระทบต่อการส่งออกสินค้าทะเลไปอียูหายไปทันทีกว่า700 ล้านเหรียญสหรัฐ ยังจะมีเรื่องสิทธิประโยชน์และกฎระเบียบจากการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ที่จะเริ่มใช้สมบูรณ์ตั้งแต่เดือนมกราคม 2559 แต่รัฐบาลไทยยังไม่ขยับอะไร เหล่านี้ล้วนเป็นประเด็นร้อนต่อเศรษฐกิจไทย ตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีนี้เป็นต้นไป และดับฝันเศรษฐกิจไทยโต 3% เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทำให้ภาคเอกชนออกมาเตือนให้รัฐบาลรับมือแล้วว่ามีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเติบโตในระดับต่ำแค่ปีละ 2-3% ต่อเนื่องอีก 2-3 ปี จากปัจจัยที่เกิดขึ้นกับไทยในช่วงนี้ หากปรับตัวทัน คือพยายามพึ่งพารายได้จากการส่งออกน้อยลง จากปัจจุบันมีสัดส่วนถึง 60% เพิ่มการพึ่งพาภาคท่องเที่ยว การบริโภคและลงทุนในประเทศ ก็น่าจะพอทดแทนได้ แต่ในความจริงคงต้องใช้เวลาอีกนานหลายปี
หลายฝ่ายจึงมองว่าทางออกที่ดีที่สุดตอนนี้คือจะทำอย่างไรให้ประชาชนมีอารมณ์ในการบริโภค และกระตุ้นให้ประชาชนใช้เงินตามปกติ ถือว่าเป็นเรื่องท้าทายของรัฐบาล และเป็นการบ้านหนักของทีมเศรษฐกิจ เพราะตามหลักวิชาการหรือในภาวะปกติเมื่อผู้มีรายได้น้อยให้มีรายได้ มีเงินในกระเป๋าเพิ่มก็จะใช้จ่ายทันที หากรัฐสามารถลงเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไม่ว่าทางใด คิดคร่าวๆ ในภาวะปกติ หากลงเงิน 1 แสนล้านบาท ไม่เกิน 1-2 เดือน จะเพิ่มเงินในระบบเศรษฐกิจอีก 4-5 เท่า หรือ 4-5 แสนล้านบาท อีกทางออกที่ต้องเร่งทำ คือ ผลักดันการท่องเที่ยว ที่ดีอยู่ให้ดีขึ้นๆ อีกเป็นเท่าตัว รัฐต้องเร่งลงทุนให้ได้ตามแผนที่กำหนดไว้ ควบคู่กับการเร่งการใช้จ่ายภาคเอกชน ผ่านความช่วยเหลือด้านการเงินการคลัง แต่ก็ไม่อยากให้ทำแบบใช้เงินงบประมาณแบบสุรุ่ยสุร่ายเหมือนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลต้องปรับวิธีการกระตุ้นที่เจาะลงไปกลุ่มมีปัญหาและรากหญ้าให้มากขึ้น แต่ไม่ใช่การใช้เงิน แต่มองเรื่องศักยภาพงานที่จะเกิดขึ้น
ช่วงครึ่งปีหลังที่เหลือคงต้องลุ้นต่อ เศรษฐกิจไทยกำลังเข้าวิกฤตหรือยัง หากย้อนหลังเมื่อครั้งวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 เศรษฐกิจไทยติดลบ 1.37% แต่ส่งออกปีนั้นโต 28.04% ถัดมาเศรษฐกิจติดลบ 10.51% ส่งออกโต 24.43% หรือครั้งวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เศรษฐกิจไทยติดลบ 2.33% ขณะที่ส่งออกติดลบ 11.22% ล่าสุด เหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองไทยก่อนมีคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้าบริหารประเทศ เศรษฐกิจไทยโต 2.87% แต่ส่งออกติดลบ 2.43% และในปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยโต 0.7% แต่ส่งออกติดลบ 0.3% เมื่อปีนี้ทุกฝ่ายประเมินว่าส่งออกไทยอาจติดลบ 2% และถึงติดลบ 3.5% จากปัญหาเศรษฐกิจโลก จึงห่วงว่าเศรษฐกิจไทยอาจใกล้วิกฤตต้มยำกุ้งหรือวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์หรือไม่
ขอบคุณข้อมูลจาก matichon.co.th
Zappnuar Story ตอน 25 : จับตาดูเศรษฐกิจครึ่งปีหลัง 58