นายพงษ์เดช ศรีวชิรประดิษฐ์ รองประธานสถาบันเสริมสร้างขีดความสามารถมนุษย์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลสำรวจค่าจ้างและสวัสดิการ ปี 2558/2559 จากจำนวนสถานประกอบการทั้งหมด 110 แห่งใน 11 กลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์คมนาคม อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง
พบว่า อัตราการจ่ายค่าจ้างขั้นต้นจำนวนตามระดับการศึกษา วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 10,120 บาท วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) จ่ายเฉลี่ย 11,383 บาท วุฒิปริญญาตรี จ่ายเฉลี่ย 15,491 บาท วุฒิปริญญาโท จ่ายเฉลี่ย 21,047 บาท วุฒิปริญญาเอก จ่ายเฉลี่ย 35,985 บาท ซึ่งหากแยกตามสาขาวิชา พบว่า ในวุฒิปวช. สาขาคหกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 11,000 บาท ส่วนสาขาออกแบบ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 9,600 บาท
ส่วนวุฒิปวส. สาขาคหกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 12,000 บาท สาขาบัญชี มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 11,126 บาท วุฒิปริญญาตรี สาขาเภสัชศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 26,825 บาท สาขาคหกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 14,398 บาท สาขาปริญญาโท สาขาเภสัชศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 30,000 บาท สาขาศิลปกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 17,078 บาท ปริญญาเอก สาขาเภสัชศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยสูงสุดที่ 57,850 บาท ส่วนสาขานิเทศศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์ สาขาศิลปกรรมศาสตร์ มีค่าจ้างเฉลี่ยต่ำสุดที่ 26,250 บาท
นายพงษ์เดช กล่าวว่า เมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างขั้นต้นสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์จำแนกตามระดับการศึกษาปี 2558 กับปี 2557 จะพบว่า วุฒิปริญญาตรี มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นสูงสุดที่ 9.49% รองลงมา คือ วุฒิปวส. เพิ่มขึ้น 8.66% วุฒิปวช.เพิ่มขึ้น 6.69% และวุฒิปริญญาโท เพิ่มขึ้น 3.16%
โดยเมื่อเปรียบเทียบค่าจ้างเฉลี่ยในระยะเวลา 7 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2552 -2558) พบว่า วุฒิปวช.มีการเปลี่ยนแปลงค่าจ้างเพิ่มขึ้นสูงสุด 57.85% หรือค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 6,411 บาทในปี 2552 เป็น 10,120 บาท ในปี 2558 รองลงมา คือ วุฒิปวส. เพิ่มขึ้น 53.32% หรือค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 7,425 บาท เป็น 11,384 บาท วุฒิปริญญาตรี เพิ่มขึ้น 41.59% หรือค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 10,941 บาท เป็น 15,491 บาท และปริญญา เพิ่มขึ้น 24.16% หรือค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 16,952 บาท เป็น 21,047 บาท
จากตัวเลขดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงแนวโน้มในอนาคตที่ค่าจ้างในวุฒิปวช. และ ปวส. จะอยู่ในระดับที่สูงกว่าวุฒิปริญญาตรี เนื่องจากความต้องการในตลาดแรงงานมีสูงกว่า รวมทั้งทิศทางของตลาดแรงงานที่กำลังเปลี่ยนไป ซึ่งในอนาคตจะเน้นรับคนเข้าทำงานโดยดูจากทักษะ และความสามารถมากกว่าที่จะดูเพียงแค่ใบปริญญา หรือระดับการศึกษา ทำให้ในอนาคต แรงงานที่จบการศึกษาจากปริญญาตรี อาจประสบปัญหาตกงานได้
นอกจากนี้ผลสำรวจด้านนโยบายการจ้าง พบว่า การปรับอัตราค่าจ้างปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 5.04% ลดลงจากปี 2557 ที่อยู่ระดับ 5.06% ส่วนการจ่ายโบนัสประจำปี 2558 เฉลี่ยอยู่ที่ 2.3 เดือน ลดลงจากปีก่อน ที่อยู่ระดับ 2.5 เดือน ซึ่งการลดลงดังกล่าวไม่ถือเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เนื่องจากเป็นการลดลงในระดับที่ต่ำ ตามการปรับลดของสภาพเศรษฐกิจและผลประกอบการเท่านั้น
โดยมีแนวโน้มที่น่าสนใจคือ บริษัทต่างๆเริ่มมีการปรับนโยบายการจ่ายโบนัสตามผลงานมากขึ้น โดยมีสัดส่วน 48% ส่วนแบบผสมระหว่างผลงานและอายุการทำงาน มีสัดส่วน 28% และแบบจ่ายอัตราเท่ากัน 19% ส่วนอัตราการลาออกของพนักงาน เฉลี่ยอยู่ที่ 12.27% จากสาเหตุ ค่าตอบแทนและสวัสดิการ เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมา ได้แก่ ไม่พึงพอใจในงานที่ทำ และความสัมพันธ์ในที่ทำงาน อาทิ หัวหน้างาน เพื่อนร่วมงาน
ขอขอบคุณข้อมูลจาก money.sanook.com