สวัสดีค่ะ วันนี้ Zappnuar.com จะพาเพื่อนๆ มาทำความเข้าใจให้ตรงกัน กับ “สิทธิลาพักร้อน” เข้าใจตรงกันนะ
ก่อนจะเข้าเรื่อง ขอทำความเข้าใจให้ตรงกันเกี่ยวกับศัพท์เทคนิคสักเล็กน้อย นั่นคือคำว่า “ลาพักร้อน” ที่เราพูดกันจนติดปาก ในกฎหมายแรงงานไม่มีคำว่า “ลาพักร้อน” เพราะมันไม่ใช่วันลา แต่เป็น “วันหยุดพักผ่อนประจำปี” ต่างหาก… “วันหยุด” ในทางกฎหมายแรงงานมี 3 ประเภทคือ
📣1.วันหยุดประจำสัปดาห์ ตามมาตรา 28 “ให้นายจ้างจัดให้ลูกจ้างมีวันหยุดประจำสัปดาห์ สัปดาห์หนึ่งไม่น้อยกว่า 1 วัน โดยวันหยุดประจำสัปดาห์ต้องมีระยะห่างกันไม่เกินหกวัน”
📣2.วันหยุดประเพณี (หรือเรามักเรียกกันว่าวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตามมาตรา 29 “ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีให้ลูกจ้างทราบ เป็นการล่วงหน้า ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 13 วัน โดยรวมวันแรงงานแห่งชาติตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ให้นายจ้างพิจารณากำหนดวันหยุดตามประเพณีจากวันหยุดราชการประจำปี วันหยุดทางศาสนาหรือขนบธรรมเนียมประเพณีแห่งท้องถิ่น”
📣3.วันหยุดพักผ่อนประจำปี (ที่เรามักเรียกกันว่า “วันลาพักร้อน” ) มาตรา 30 “ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาแล้วครบหนึ่งปี มีสิทธิ์หยุดพักผ่อนประจำปีได้ ปีหนึ่งไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดวันหยุดดังกล่าวให้แก่ลูกจ้างล่วงหน้าหรือกำหนดให้ตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน ในปีต่อมานายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างมากกว่า 6 วัน ทำงานก็ได้ นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้สะสมและเลื่อนวันหยุดพักผ่อนประจำปีที่ยังมิได้หยุดในปีนั้น รวมเข้ากับปีต่อๆไปได้ สำหรับลูกจ้างซึ่งทำงานยังไม่ครบหนึ่งปี นายจ้างอาจกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แก่ลูกจ้างโดยคำนวณให้ตามส่วนก็ได้”
ให้สังเกตตัวพิมพ์หนาทั้ง 3 ข้อ ข้างบน นั่นคือ วันหยุดทั้ง 3 กรณี ข้างต้นนั้น ตามกฎหมายแรงงานกำหนดให้นายจ้างเป็นผู้กำหนดหรือจัดให้ลูกจ้างได้หยุด เพราะเป็นสิทธิของลูกจ้างที่นายจ้างจะต้องจัดให้ตามกฎหมาย เมื่อทำความเข้าใจในเรื่องสิทธิของลูกจ้างในเรื่องวันหยุดพักผ่อนประจำปีกันแล้ว ลองมาดูกรณีดังต่อไปนี้จะได้เข้าใจมากยิ่งขึ้น แต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน ในที่นี้ขอใช้คำว่า “ลาพักร้อน” ตามภาษาของคนทำงานก็แล้วกัน
“เอ” มีสิทธิลาพักร้อน 10 วันในปีนี้ แต่ตลอดทั้งปี “เอ” ทำงานไปโดยไม่เคยขอลาพักร้อนเลย (ซึ่งตามระเบียบของบริษัทบอกไว้ว่าถ้าพนักงานจะลาพักร้อนก็ต้องยื่นใบลาพักร้อนล่วงหน้าเพื่อให้ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเสียก่อนเมื่อผู้บังคับบัญชา อนุญาต พนักงานจึงจะหยุดพักร้อนได้ และวันลาพักร้อนเมื่อไม่ใช้ในปีไหนก็ให้ ตัดทิ้งไปไม่มีการสะสมวันลาพักร้อน)
เมื่อเป็นอย่างนี้ ทั้งบริษัทและ”เอ” จะเข้าใจกันเอาเองว่า ถ้าปีไหนพนักงานไม่ใช้สิทธิลาพักร้อน หรือใช้สิทธิลาพักร้อนไม่หมด เช่นกรณีอย่างนี้ ก็ถือว่าพนักงานสละสิทธิลาพักร้อนเอง (ก็อยากไม่ยื่นใบลาพักร้อนเองนี่) เชื่อว่าในบริษัทหลายแห่งก็คิดและทำอย่างนี้อยู่ใช่ไหม ฮ่าๆ ?
ในกรณีนี้ แม้ “เอ” ไม่ได้ยื่นใบลาพักร้อนก็จริง แต่ไม่ได้แปลว่า “เอ” สละสิทธิวันลาพักร้อนนะ !!! ทางบริษัทควรจะต้อง “จัดวันหยุดพักผ่อนประจำปี” ให้กับ “เอ” เช่น หากเราเป็นหัวหน้าของ “เอ” และเห็นว่า “เอ” ยังไม่ลาพักร้อนเลย ซึ่งก็ผ่านมาครึ่งปีแล้ว ก็ควรจะต้องกำหนดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้ “เอ” โดยทำตารางการหยุดพักร้อนสำหรับ “เอ” ให้หยุดพักร้อนวันที่เท่าไหร่ถึงเท่าไหร่ ตามสิทธิที่เขามีอยู่ในปีนี้คือ 10 วัน แล้วส่งให้เขารับทราบ แต่ถ้า “เอ” ไม่อยากจะหยุดพักร้อนเอง ก็ทำหนังสือแจ้งมาที่หัวหน้า ว่าไม่ประสงค์จะใช้สิทธิลาพักร้อนในปีนี้ แล้วเซ็นชื่อ “เอ” ไว้เป็นหลักฐาน หากทำแบบนี้แล้ว เขาจะมาเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนไม่ได้ และ บริษัทก็ไม่ต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนให้เอ เพราะเป็นไปตามมาตรา 30 (ข้างต้น) คือบริษัทจัดวันหยุดพักผ่อนประจำปีให้แล้วแต่พนักงานไม่ใช้สิทธิเอง
แต่ถ้าไม่ทำอย่างที่บอกข้างต้น แล้ว”เอ”มาเรียกร้องให้บริษัทจ่ายค่าวันหยุดพักร้อน 10 วัน ที่เอไม่ได้ลา และบริษัทก็ดันไม่ได้จัดวันหยุดพักร้อนให้อีก หากเป็นเช่นนี้ บริษัทก็จะต้องจ่ายค่าวันหยุดพักร้อนให้ “เอ” นะจ๊ะ
ขอสรุปอีกครั้งเพื่อให้เข้าใจตรงกันนะ ขอแบ่งเป็น 2 ข้อ คือ
1.หากบริษัทจัดวันหยุดพักร้อนให้พนักงานโดยแจ้งให้พนักงานทราบแล้ว แต่พนักงานแจ้งยืนยันกลับมาว่า ไม่ประสงค์จะใช้สิทธิ ถ้าทำแบบนี้แล้วบริษัทไม่ต้องจ่ายค่าพักร้อนให้พนักงาน
2.หากบริษัทไม่ได้จัดวันหยุดพักร้อนให้พนักงาน แล้วจะมาโมเมถือเอาเองว่าเมื่อพนักงานไม่ยื่นใบลาพักร้อน จะถือว่าพนักงานสละสิทธิ์การลาพักร้อนไปโดยปริยาย และจะไม่จ่ายค่าวันหยุดพักร้อนนั้น ไม่สามารถทำได้ครับ เพราะบริษัทไม่จัดวันหยุดพักร้อนให้เขา ตามมาตรา30
อ่านจบแล้วก็สำรวจความเรียบร้อยกันนิดนึง ทั้งพนักงานและนายจ้างจะได้เข้าใจเรื่องสิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีตรงกันเสียที ปฏิบัติกันให้ถูกต้อง จะได้ Happy กันทั้งสองฝ่ายนะจ๊ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.jobbkk.com