💊💉เมื่อประกันสังคมยอมรับความจริงว่า… 💉💊
ฮือฮากันพอสมควร เมื่อสำนักงานประกันสังคมออกมายอมรับว่า กองทุนบำนาญชราภาพซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกองทุนประกันสังคม มีโอกาสอย่างสูงที่สถานะการเงินจะติดลบในอีก 20 ปีข้างหน้า
ที่จริงจะว่าไป ก็ต้องบอกว่าไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่อะไร เพราะก่อนหน้านี้หลายปี TDRI เคยออกมาเตือนเรื่องนี้แล้วหลายๆครั้ง (ย้ำว่า … “หลาย” ครั้ง)
แต่ที่เพิ่งมายอมรับ เพราะแต่ก่อนเห็นไม่ค่อยชัด เนื่องจากที่ผ่านมากองทุนบำนาณชราภาพมีหน้าที่แค่รับเงินและหาช่องทางลงทุนให้กับผู้ประกับตนเท่านั้น ยังไม่ต้องห่วงเรื่องการใช้จ่าย จนกระทั่งปลายปี 56 ที่ผ่านมา ผู้ประกันตนหลายท่านที่ส่งเงินเข้ากองทุนครบ 15 ปี เริ่มได้รับเงินคืน เนื่องด้วยเหตุเกษียณ
แค่ผ่านไปครึ่งปี จ่ายเงินให้กับผู้เกษียณไปแล้ว 2,000 ล้าน ครบปีคงได้มี 4,000 ล้านให้ได้เห็น อีก 20 ปี ก็ต้องจ่ายอย่างน้อย 400,000 ล้าน และยืนยันกันมาว่าแล้วว่า ตั้งแต่ปีที่ 21 เป็นต้นไป สถานะกองทุนบำนาญชราภาพจะเร่ิมติดลบ หรือขาดสภาพคล่อง
จะไม่ให้ติดลบได้อย่างไรครับ 5% ที่เราจ่ายให้ประกันสังคมทุกเดือน จะหัก 3% นำเข้ากองทุนบำนาญชราภาพ แต่พอเกษียณ กองทุนจะต้องจ่ายคืนเราถึง 20%
คิดง่ายๆ หากคุณมีรายได้ต่อเดือน 15,000 บาท คุณต้องส่งเงินเข้าประกันสังคมเดือนละ 5% หรือ 750 บาท ในจำนวนนี้เงินส่วนหนึ่ง 450 บาท จะถูกนำเข้าไปสะสมในกองทุนบำนาญชราภาพทุกเดือน พร้อมกันกับเงินสมทบของนายจ้างในอัตราเดียวกัน
แต่พอเกษียณ และเงินส่งเงินเข้ากองทุนอย่างน้อย 180 เดือน (15 ปี) ผู้ประกันตนท่านนั้นจะได้รับเงินบำนาญคืน เดือนละ 3,000 บาท (คิดจากรายได้สูงสุด 15,000 บาท) หรือเทียบเท่ากับ 20%
ที่สำคัญ 3,000 บาทนั้น ได้ไปจนวันตาย (ย้ำ … ไปจนวันตาย) … พูดให้ง่าย ให้เห็นภาพ เงินที่เจ้าตัวสมทบรวมกับของนายจ้างตลอด 15 ปี รวมกันจะเท่ากับ 162,000 บาท ซึ่งหากจ่ายคืนเดือนละ 3,000 บาท จะใช้เวลาเพียง 4.5 ปี เงินก้อนนั้นก็จะหมดลง ดังนั้นหากผู้ประกันตนมีอายุยืนสักหน่อย ก็เรียบร้อย เงินไหลออกมากกว่าไหลเข้าแน่นอน
แม้ทางกองทุนประกันสังคมจะพยายามนำเงินของเราไปลงทุนเพื่อสร้างผลตอบให้มากที่สุด แต่มากยังไงก็ไม่เกิน 10% เพราะติดข้อบังคับของกองทุน ที่อนุญาตให้ลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงสูงสุดได้เพียง 40% ของมูลค่ากองทุนเท่านั้น
(อ้าวแล้วทำไมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่บริษัทเอกชนบังคับให้ลูกจ้างออมกัน ถึงไม่เป็นแบบนี้นี้ … อันนั้นเขามี Account ชัดเจนครับ เงินใครเงินมัน ไม่ใช่เก็บเงินแล้วมากองรวมกัน ก่อนจ่ายออกไปแบบนี้ และจ่ายออกไปในรูปเงินก้อนเพียงอย่างเดียว (คล้ายบำเหน็จ) ไม่ต้องจ่ายกันยาวนานแบบบำนาญไปจนตาย)
เมื่อเงินไหลเข้ามีแนวโน้มน้อยกว่าเงินไหลออก การจะคงอยู่ได้ของกองทุนบำนาญชราภาพจึงต้องอาศัยลักษณะของแชร์ลูกโซ่ที่ว่า ให้คนเข้ามาทีหลัง จ่ายเงินเลี้ยง คนที่เข้ามาก่อน และออกก่อน เกษียณก่อน
แต่นั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะแนวโน้มทางประชากรศาสตร์ของประเทศเรากำลังเปลี่ยนไป คนแก่อายุยืนขึ้น (ต้องส่งเงินให้นานขึ้น) ในขณะที่จำนวนประชากรที่เกิดลดลง แรงงานลดลง คนส่งเงินก็ลดลง ดังนั้น ดูยังไงก็ช๊อต และส่งผลกระทบรอการช่วยเหลือจากภาครัฐแน่นอน
ที่จริงประเทศต้นแบบที่เราหยิบแนวคิดประกันสังคมมาใช้ก็กำลังจะตาย ติดลบหัวโตอยู่ แต่เราผู้ที่หยิบนำแนวคิดมาใช้ ก็ไม่ได้มีแผนการอะไรที่เตรียมพร้อมรับมือ ที่น่าตลกก็คือ เมื่อลอกเขามา เราก็ต้องลอกให้ครบสูตร ลอกหลักคิดมา ก็ต้องลอกวิธีการแก้ไขปัญหาด้วย
ล่าสุดกองทุนประกันสังคมประกาศแบบชิลๆว่า ไม่ต้องห่วง ทางเรามีวิธีแก้ปัญหากองทุนบำนาญชราภาพขาดสภาพคล่องในอีก 20 ปีข้างหน้า ด้วยวิธีการดังนี้
1) เพิ่มเงินสมทบลูกจ้างอีก 1% ส่วนนายจ้างเพิ่มอีก 0.5% … จัดไป
2) เพิ่มอายุการรับบำนาญ (เดิมที่ 55 ปี) ทุกๆ 4 ปี ปรับเพิ่มไปเรื่อยๆ จนไปรับบำนาญกันที่อายุสัก 62 ปี … หลักคิดคือ จ่ายเงินให้ช้าลง สะสมเงินให้มากขึ้น
3) เพิ่มเวลาการจ่ายสะสมจาก 15 ปี เป็น 20 ปี … พูดให้ง่าย เดิมส่ง 15 ปีก็ได้บำนาญแล้ว แต่ข้อเสนอใหม่ ส่งเพิ่มอีกสัก 5 ปี ได้ทั้งเงินเพิ่ม ได้ทั้งยืดเวลาจ่าย
4) ปรับคำนวณค่าจ้างเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย เป็นตลอดช่วงที่สมทบ … พูดให้ง่าย คือ ทำฐานเงินเดือนที่จะนำไปคิดเงินบำนาญให้ต่ำลง เพื่อให้จ่ายน้อยลง
ทุกแนวทางดูแล้วมองแค่ให้กองทุนบำนาญชราภาพรอดจากการติดลบ แต่ไม่ได้มองถึงผลประโยชน์ของผู้ประกันตนเลยแม้แต่น้อย
แล้วเอาไงกันดีหละพวกเรา … ไม่มีทางอื่นครับ นอกเหนือไปจากเตรียมวางแผนเกษียณของตัวเอง ถึงเวลาหรือยัง ที่พวกเราควรจะมีความรู้ทางการเงินที่มากพอ ไม่มีใครไม่แก่ และเมื่อวันที่แก่ ไม่มีใครอยากทำงานอีกต่อไป แต่ไม่ทำงาน คุณก็ยังต้องใช้เงิน
คำถามคือ … คุณเริ่มเตรียมการสำหรับการเกษียณรวยของตัวเองแล้วหรือยัง ถ้ายัง … ผมว่าน่าจะได้เวลานับหนึ่งแล้วนะครับ
Credit : Fanpage Money Coach
ขอขอบคุณข้อมูลจาก pantip.com โดยคุณ Panda Smile