อธิบดีกรมการแพทย์ เผย โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังรักษาไม่หายและยังมีแนวโน้มผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปี แต่โรคเบาหวานไม่น่ากลัวอย่างที่คิด หากรู้จักควบคุมเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ไม่เครียด และหมั่นตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดช่วยลดเสี่ยงโรค

เบาหวาน
นายแพทย์สุพรรณ ศรีธรรมมา อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า เบาหวานเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติของร่างกายที่ไม่สามารถใช้น้ำตาลได้ตามปกติ ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงและถูกขับออกมาทางปัสสาวะ เนื่องจากร่างกายขาดฮอร์โมนอินซูลินจากการที่ตับอ่อนผลิตไม่พอใช้หรือผลิตแล้วใช้ไม่ได้ตามปกติ เมื่อมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงอยู่นานจะทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนตามมาทั้งเฉียบพลันและเรื้อรัง ส่งผลทำให้หลอดเลือดเสื่อมเสียหายและทำลายอวัยวะส่วนปลายทาง เช่น ไต สมอง หัวใจ เป็นต้น โดยเฉพาะเมื่อมีปัจจัยเสี่ยง เช่น สูบบุหรี่ความดันโลหิตและไขมันสูงร่วมด้วย

โดยปกติในกระแสเลือดของเราจะมีน้ำตาลอยู่ในระดับที่พอดีสำหรับการนำไปใช้คือ 70-120 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หากระดับน้ำตาลในเลือดเกิน 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ไตจะกรองน้ำตาลออกมาในปัสสาวะทำให้สามารถตรวจพบน้ำตาลในปัสสาวะได้ โรคเบาหวาน มี 2 ชนิด คือ ชนิดที่พึ่งอินซูลินมักพบในเด็กหรือวัยรุ่น ต้องรักษาด้วยการฉีดอินซูลินทุกวันตลอดชีวิตถ้าขาดจะเป็นอันตรายได้ และชนิดที่ไม่พึ่งอินซูลินพบมากกว่าชนิดแรก ประมาณร้อยละ 90-95 ของคนไข้เบาหวาน มักพบในผู้สูงอายุที่มีอายุมากกว่า 40 ปี

สำหรับอาการที่บ่งชี้ว่าเป็นโรคเบาหวาน เช่น ปัสสาวะบ่อยและมาก ปัสสาวะกลางคืน คอแห้ง กระหายน้ำ ดื่มน้ำมาก หิวบ่อย กินจุ แต่น้ำหนักลด ผอมลง อ่อนเพลีย เป็นแผลหรือฝีง่ายแต่หายยาก คันตามผิวหนังและอวัยวะสืบพันธุ์ ตาพร่ามัว ชาปลายมือปลายเท้าความรู้สึกทางเพศลดลง โดยมีสาเหตุมาจากภาวะน้ำหนักเกิน ความอ้วน ขาดการเคลื่อนไหวไม่ออกกำลังกาย และกรรมพันธุ์ มักพบโรคนี้ในผู้ที่มีบิดา มารดา เป็นเบาหวานลูกจะมีโอกาสเป็นเบาหวาน 6-10 เท่าของคนที่พ่อแม่เป็นเบาหวาน ความเครียดเรื้อรังทำให้อินซูลินทำงานนำน้ำตาลเข้าเนื้อเยื่อไม่เต็มที่ รวมถึงเชื้อโรคหรือยาบางชนิด เกิดร่วมกับโรคเนื้องอกของต่อมใต้สมองหรือต่อมหมวกไต เป็นต้น โรคเบาหวานถึงแม้ว่าจะเป็นโรคเรื้อรังและมีภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง แต่ก็สามารถป้องกันได้โดยการควบคุมระดับน้ำตาลและปัจจัยเสี่ยง เช่น บริโภคอาหารที่สมดุลกับสุขภาพ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ งดสูบบุหรี่ งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ไม่เครียด และตรวจสุขภาพประจำปี เป็นต้น

อธิบดีกรมการแพทย์ แนะ หากสงสัยว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อโรคเบาหวานควรเข้ารับการตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดจากสถานบริการรักษาพยาบาลพื้นฐาน โดยก่อนตรวจจะต้องงดอาหารทุกชนิดยกเว้นน้ำเปล่าอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และควรดูแลสุขภาพเลือกรับประทานอาหารครบ 5 หมู่ รับประทานอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรตที่มีกากใยมากขึ้น เช่น ข้าวซ้อมมือ รับประทานผักให้มากขึ้นเน้นรับประทานประเภทผักใบ เช่น ผักกาดขาว คื่นฉ่าย ตำลึง คะน้า เป็นต้น นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม อาหารสำเร็จรูป อาหารกระป๋อง อาหารหมักดอง ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทำจิตใจให้แจ่มใส จะช่วยให้ห่างไกลโรคได้

ขอขอบคุณข้อมูลจาก กรมการแพทย์ และ health.sanook.com

Zappnuar Story : แพทย์แนะกินอยู่รู้ทันป้องกันเบาหวาน