ปัจจุบันสำลีมีบทบาทในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะนำมาใช้ทำความสะอาดผิวหน้า ผิวกาย หรือใช้ทำความสะอาดบาดแผล สำหรับสำลีที่ใช้นั้นมีหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น สำลีเช็ดหน้า สำลีเช็ดแผล สำลีอเนกประสงค์ สำลีก้าน สำลีแผ่น และสำลีก้อน ซึ่งแต่ละชนิดก็มีการใช้งานแตกต่างกันไป แล้วรู้หรือไม่ว่า สำลีนั้น ทำมาจากอะไร เรามาทำความรู้จักสำลี ไปพร้อมๆกับบทความนี้เลย กว่าจะเป็น…สำลี
สำลีเริ่มใช้ครั้งแรกในวงการแพทย์ ตั้งแต่ ค.ศ 1180 ที่โรงพยาบาล Queen’s Hospital ที่เมืองเบอร์มิงแฮม ประเทศอังกฤษ โดย Dr.Joseph Sampson Gamgee ซึ่งในช่วงนั้นใช้วิธีการ นำฝ้ายจากต้นฝ้าย มาทำความสะอาด และฆ่าเชื้อ แล้วจึงนำมาใช้งาน และใช้งานแพร่หลายมาจนถึงปัจจุบัน
ในประเทศไทยมีโรงงานผลิตสำลีมากมาย ซึ่งฝ้ายที่นำมาทำสำลีนั้น 99% เป็นฝ้ายที่นำเข้าจากต่างประเทศ ส่วนฝ้ายที่ปลูกในประเทศไทยนั้นเป็นฝ้ายพื้นเมือง มีเพียง 1% เท่านั้น
ต้นฝ้ายใช้ระยะเวลาการเติบโตประมาณ 100 วัน นับจากวันที่เริ่มปลูก มันจะค่อยๆเติบโต ออกดอก จากนั้นดอกจะร่วง และเกิดเป็นผล เรียกว่าสมอฝ้าย ผลแก่จะมีสีน้ำตาล เมื่อแก่จัดจะแตก และเห็นเป็นปุยฝ้ายสีขาวๆ อยู่ในสมอ เกษตรกรจะเก็บปุยฝ้ายใส่กระสอบ แล้วนำฝ้ายมาตากแดดเพื่อลดความชื้นและทำการแยกเมล็ดฝ้ายออก จากนั้นเตรียมขายให้กับโรงงาน เราเรียกส่วนนี้ว่า ฝ้ายดิบ
หลังจากที่ฝ้ายดิบมาถึงโรงงานทำสำลีแล้ว คนงานจะทำการตรวจสอบความสะอาด ตรวจสอบความยาวเส้นใย และการตรวจสอบความชื้นของฝ้ายดิบ เมื่อฝ้ายดิบผ่านกระบวนการตรวจสอบเบื้องต้นแล้ว ก็ถึงเวลานำฝ้ายไปเข้ากระบวนการทำสำลีแล้ว
กระบวนการทำสำลีแบบที่ 1 นำฝ้ายดิบมาทำการฟอก และนำมาสางให้เป็นเส้นๆ จากนั้นนำไปแปรรูปทำสำลีก้อนกลม และเข้าสู่กระบวนการฆ่าเชื้อ เพื่อใช้ในการแพทย์
กระบวนการทำสำลีแบบที่ 2 นำฝ้ายดิบมาทำการแปรรูปเป็นแผ่นบางๆ และพับเป็นชั้นๆ ทบกันไปมาประมาณ 9-12 ชั้น จากนั้นจึงนำฝ้ายที่ได้มาเข้ากระบวนการฟอกขาว และตรวจสอบสารเคมีตกค้างและความเป็นกรดเป็นด่างในสำลี และขั้นตอนสุดท้ายนำมาแปรรูปให้เป็นสำลีแผ่น สำลีม้วน และสำลีก้าน
เคล็ดลับในการตรวจสอบสำลี ที่สามารถทำเองได้ที่บ้าน
1.การตรวจสอบสารเรืองแสง ด้วยการใช้หลอดฟลูออเรสเซนต์
2.การตรวจสอบสำลีที่มีสารตกค้าง โดยการใช้สำลีจุ่มน้ำสะอาดแล้วบีบน้ำออกให้หมาด ถ้าสำลีที่มีสารตกค้างจะมีกลิ่นอับแรงมาก
3.การทดสอบคุณสมบัติของสำลี สำลีที่ดีต้องทำจากฝ้าย 100% จึงซับน้ำได้ดี เมื่อนำสำลีก้อนหรือสำลีแผ่นมาจุ่มน้ำ สำลีจะจมลงภายในเวลาไม่เกิน 10 วินาที แต่หากเป็นสำลีที่ผสมใยสังเคราะห์ จะใช้เวลามากกว่า 10 วินาทีในการจมน้ำ หรืออาจจะไม่จมเลย
4.การทำสอบด้วยการเผาไหม้ สำลีที่ทำจากฝ้ายแท้ เมื่อเกิดการเผาไหม้จะไม่มีควันสีดำ และเถ้าของสำลีจะเป็นสีขาว แต่หากเป็นสำลีที่ผสมใยสังเคราะห์เมื่อเกิดการเผาไหม้ จะมีควันสีดำและมีกลิ่นเหม็นเหมือนไฟไหม้พลาสติก เถ้าของสำลีนั้นจะมีสีดำและเป็นก้อนแข็งๆ
https://www.youtube.com/watch?v=gJLciLM2tE0
ขอขอบคุณข้อมูลจาก รายการกบนอกกะลา