ฝนดาวตก

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)(สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชาวไทยชม “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” หลังเที่ยงคืนวันที่ 12 จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ตามเวลาในประเทศไทย สังเกตได้บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอุส(Perseus) บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ คาดตกเฉลี่ยมากที่สุดถึง 100 ดวงต่อชั่วโมง สามารถเห็นได้ทั่วไทยหากฟ้าใส ไร้ฝน คืนดังกล่าวยังตรงกับแรม 14 ค่ำ จะเห็นได้ชัดเจนเนื่องจากไม่มีแสงจันทร์รบกวน

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. เปิดเผยว่า ในคืนวันที่ 12 สิงหาคม จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ตามเวลาในประเทศไทย จะเกิดปรากฏการณ์ “ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์” สามารถเห็นได้ด้วยตาเปล่าทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ บนท้องฟ้าทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวเพอร์เซอุส (Perseus) ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เป็นฝนดาวตกที่มีความสว่างเป็นอันดับสองรองจากฝนดาวตกลีโอนิดส์ มีสีสันสวยงาม สามารถสังเกตเห็นได้ในช่วงระหว่างวันที่ 17 กรกฏาคม – 24 สิงหาคมของทุกปี โดยในช่วงประมาณวันที่ 12 – 13 สิงหาคม จะเป็นช่วงที่เกิดฝนดาวตกมากที่สุด อาจมีจำนวนดาวตกที่เห็นได้ด้วยตาเปล่าถึงประมาณ 100 ดวงต่อชั่วโมง สำหรับปีนี้ ช่วงเวลาที่มีอัตราการตกมากที่สุดของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ คือ เวลาประมาณ 13.00 น. ของวันที่ 13 สิงหาคม 2558 ซึ่งเป็นเวลากลางวันในประเทศไทย แต่สำหรับช่วงเวลากลางคืนก็ยังสามารถสังเกตเห็นได้แต่อัตราการตกอาจไม่มากนัก ผู้ที่สนใจก็ยังสามารถติดตามชมความสวยงามของปรากฏการณ์ฝนดาวตกได้ในคืนดังกล่าว

นายศุภฤกษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากในประเทศแถบซีกโลกเหนือ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวเป็นช่วงฤดูร้อน แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าในเดือนสิงหาคมประเทศไทยอยู่ในช่วงฤดูฝน ทำให้สภาพท้องฟ้าไม่เอื้ออำนวยต่อการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ แต่สำหรับในบางพื้นที่ที่ไม่มีฝนตกก็จะสามารถชื่นชมความสวยงามของฝนดาวตกครั้งนี้ได้ด้วยตาเปล่า

ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการสังเกตฝนดาวตกคือ ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนเป็นต้นไป เนื่องจากเป็นเวลาที่ชีกโลกของเราหันเข้าหาทิศทางที่ดาวตกพุ่งเข้ามาแบบตรงๆ ในขณะที่เวลาหัวค่ำจนถึงก่อนเที่ยงคืนเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งสวนทางการหมุนรอบตัวเองของโลก เราจะเห็นดาวตกมีความเร็วสูง ทำให้สังเกตได้ยาก แต่หลังเที่ยงคืนไปจนถึงเวลาใกล้รุ่ง จะเป็นช่วงที่ดาวตกวิ่งตามทิศทางการหมุนของโลก เราจึงเห็นดาวตกวิ่งในอัตราเร็วที่ช้ากว่าจนมีเวลาที่สามารถชี้ชวนกันดูได้ และมองเห็นความสวยงามของดาวตกได้ชัดเจนขึ้น นายศุภฤกษ์กล่าวปิดท้าย

ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์เกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวหางสวิฟท์-ทัตเทิล (109P/Swift-Tuttle) เหลือทิ้งไว้ในวงโคจรเมื่อ 20 ปีก่อน เมื่อโลกโคจรผ่านเข้าไปบริเวณที่มีเศษฝุ่นเหล่านี้ จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ สังเกตเห็นฝุ่นของดาวหางลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบ และถึงแม้ว่าเศษฝุ่นของดาวหาง 109P/Swift-Tuttle จะถูกทิ้งไว้เป็นเวลา 20 ปีแล้ว แต่เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านี้ก็ยังทำให้ชาวโลกได้สัมผัสความสวยงามของฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์นี้เป็นประจำทุกปี

ติดตาม Zappnuar Story และสาระความรู้ดีๆได้ในครั้งต่อไป ที่ Zappnuar.com หรือติดตามผ่านช่องทางต่างๆ ตามนี้เลยนะคะ line : @zappnuar.com  Facebook   :  zappnuar.com  Twiter :  @zappnuar   Instragram :  zappnuar_  Google + :  zappnuar

ขอบคุณข้อมูลจาก facebook.com/NARITpage และภาพถ่ายฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ที่เกิดขึ้นในปี พ.ศ.2556 ถ่ายโดย David Kingham

Zappnuar Story : ชมฝนดาวตกในคืนวันแม่