สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชมฝนดาวตกส่งท้ายปี 2558 ฝนดาวตกเจมินิดส์หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ในคืนวันที่ 14 ธันวาคมทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ สังเกตได้ทุกภูมิภาคในบริเวณที่ท้องฟ้ามืดสนิทไม่มีแสงรบกวน เผยตรงกับคืนเดือนมืด ไร้แสงจันทร์รบกวน มีลุ้นอัตราการตกสูงถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง

ชวนชมฝนดาวตก

ดร. ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เปิดเผยว่า “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่” เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 4-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี คาดการณ์ว่าในปีนี้จะสังเกตเห็นฝนดาวตกเจมินิดส์ได้ตั้งแต่ช่วงหัวค่ำหลังดวงจันทร์ลับขอบฟ้า ตั้งแต่เวลาประมาณ 20:30 น.ของคืนวันที่ 14 ธันวาคมจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคมคาดการณ์อาจมีอัตราการตกสูงสุดถึง 120 ดวงต่อชั่วโมง จุดศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ ระหว่างดาวพอลลักซ์ และดาวคาสเตอร์ สังเกตได้ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ เห็นได้ในทุกภูมิภาคของไทย ประกอบกับในคืนดังกล่าวเป็นคืนเดือนมืดดวงจันทร์ตกลับขอบฟ้าตั้งแต่หัวค่ำ ท้องฟ้าจะมืดสนิท ไร้แสงจันทร์รบกวน นับเป็นโอกาสดีที่จะสามารถสังเกตการณ์ฝนดาวตกได้ตลอดทั้งคืน

ดร.ศรัณย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากฝนดาวตกเจมินิดส์แล้วยังมีฝนดาวตกชุดอื่นให้ชมกันอีก เช่น ฝนดาวตกพัพพิดส์-เวลิดส์ ในคืนวันที่ 9 ธันวาคม อัตราการตก 15 ดวงต่อชั่วโมง และฝนดาวตกเออร์ซิดส์ ในคืนวันที่ 22 ธันวาคม 2558 อัตราการตก 10 ดวงต่อชั่วโมง ฯลฯ ถือเป็นเดือนส่งท้ายปีที่เหมาะแก่การสังเกตการณ์ฝนดาวตกเป็นอย่างยิ่ง

ฝนดาวตกเจมินิดส์เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่ มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดศูนย์กลางการกระจาย (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น

ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.facebook.com/NARITpage :สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ Fan Page

Zappnuar Story : ชวนชมฝนดาวตกส่งท้ายปี 2558