Zappnuar On Tour วันนี้จะพาแฟน ๆ ชาวแซบนัวไปรู้จักกันศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองที่อยู่กับชาวขอนแก่นมาเป็นเวลานานมาก ๆ เรียกได้ว่าเป็นเหมือนไฮไลท์ที่ถ้าใครมาที่ขอนแก่นและไม่ได้แวะมาเยี่ยมชมความงดงามของสถานที่แห่งนี้ อาจจะหมายความได้ว่ามาไม่ถึงเมืองขอนแก่นเลยทีเดียวเชียว และสถานที่ที่ Zappnuar On Tour จะพาทุกท่านไปรู้จักกันในวันนี้นั่นก็คือ “วัดพระมหาธาตุแก่นนคร” หรือที่ชาวขอนแก่นรู้จักกันดีในชื่อ “วัดหนองแวง” นั่นเอง

วัดหนองแวงพระอารามหลวง (1)

วัดหนองแวง เดิมชื่อวัดเหนือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2332 พร้อมกับวัดกลาง และวัดธาตุ โดยท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนแรก ของจังหวัดขอนแก่น ณ บ้านบึงบอน (บึงแก่นนคร) พ.ศ.2354 ท้าวจามมุตร ท้าวเพียเมืองแพน เจ้าเมืองคนที่ 2 ได้ย้ายเมืองไปอยู่บ้านดอนพันชาติ เขตเมืองมหาสารคาม (บ้านโนนเมือง ตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม) บ้านบึงบอนจึงกลายเป็นเมืองเก่าตั้งแต่นั้นมา

วัดหนองแวงพระอารามหลวง (10)

ภายในวัดหนองแวงซึ่งเป็นพระอารามหลวง มีพระมหาธาตุแก่นนคร หรือ พระธาตุเก้าชั้นฐานสี่เหลี่ยมกว้างด้านละ 50 เมตร เรือนยอดทรงเจดีย์จำลองแบบจากพระธาตุขามแก่น จัดสร้างขึ้น เนื่องในวโรกาสที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี และมหามังคลานุสรณ์ 200 ปี เมืองขอนแก่น ความสูงขององค์พระธาตุฯ 80 เมตร มีพระจุลธาตุ 4 องค์ ตั้งอยู่ 4 มุมและมีกำแพงแก้วพญานาค 7 เศียรล้อมรอบ เป็นศิลปะสมัยทวาราวดี ผสมผสานศิลปะอินโดจีน ซึ่งเป็นลักษณะแบบชาวอีสานตากแห

วัดหนองแวงพระอารามหลวง (4)

ภายในองค์พระธาตุแต่ละชั้น

– ชั้นที่ 1 เป็นหอประชุมมีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนอุรังคธาตุ (ส่วนอก) และพระธาตุของพระสาวกประมาณ 100 องค์ ประดิษฐานอยู่ บานประตู หน้าต่าง แกะสลักภาพนิทานเรื่องจำปาสี่ต้น แบบ 3 มิติ และมีจิตรกรรมฝาผนัง ประวัติศาสตร์เมือง ขอนแก่น

– ชั้นที่ 2 เป็นพิพิธภัณฑ์ของชาวอีสานโดยเก็บรวบรวมข้าวของเครื่องใช้ในอดีต ที่ค่อนข้างหาดูได้ยากในปัจจุบัน พร้อมทั้งที การวาดลวดลายบนผนังที่เกี่ยวกับข้อห้ามของคนอีสาน ที่เรียกว่า “คะลำ” ซึ่งเป็นแนวประพฤติตนในการอยู่ร่วมกันของชาวอีสาน โดยแต่ละภาพก็หมายถึงข้อห้ามแต่ละข้อ ซึ่งมีทั้งหมด 35 ข้อ บานประตู หน้าต่าง เขียนลวดลายเบญจรงค์ และภาพแกะสลัก นิทานเรื่องสังศิลป์ชัย

– ชั้นที่ 3 เป็นหอปริยัติบานประตู หน้าต่าง เขียนลวดลายเบญจรงค์และภาพแกะสลักนิทานเรื่องนางผมหอม เป็นนิทานที่ได้เล่าสืบ ต่อกันมาแต่โบราณของชาวอีสาน และในชั้นที่สามนี้ได้รวบรวมตาลปัตร พัดยศ และเครื่องอัฐบริขาร ของพระภิกษุสงฆ์ที่มี ชื่อเสียงในจังหวัดขอนแก่น

– ชั้นที่ 4 เป็นหอปริยัติธรรม ภายในมีพิพิธภัณฑ์ของเก่า ภาพวาดที่บานประตู หน้าต่าง เป็นภาพพระประจำวันเกิด เทพประจำทิศ และตัวพึ่ง-ตัวเสวย

วัดหนองแวงพระอารามหลวง (5)วัดหนองแวงพระอารามหลวง (6)

– ชั้นที่ 5 เป็นหอพิพิธภัณฑ์มีบริขารของหลวงปู่พระครูปลัดบุษบา สุมโน อดีตเจ้าอาวาสวัดรูปที่ 6 บานประตูหน้าต่างแกะสลักภาพ พุทธชาดก

– ชั้นที่ 6 เป็นหอพระอุปัชฌายาจารย์บานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานชาดกเรื่องเวสสันดร

– ชั้นที่ 7 เป็นหอพระอรหันต์สาวกบานประตูหน้าต่างแกะสลักนิทานเรื่องพระเตย์มีใบ้

วัดหนองแวงพระอารามหลวง (8) วัดหนองแวงพระอารามหลวง (9)

– ชั้นที่ 8 เป็นหอพระธรรมเป็นที่รวบรวมพระธรรม คัมภีร์สำคัญทางพระพุทธศาสนา พระไตรปิฏก ฯลฯ บานประตูแกะสลักรูปพรหม 16 ชั้น

– ชั้นที่ 9 เป็นหอพระพุทธตรงกลางมีบุษบก เป็นที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า บานประตูแกะสลักภาพ 3 มิติ รูปพรหม 16 ชั้น ซึ่งในชั้นนี้จะสามารถมองเห็นทิวทัศน์ของเมืองขอนแก่นได้โดยรอบ ถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่ทำให้ผู้คนที่แวะเวียนมาที่วัดแห่งนี้ จะต้องเดินเท้าขึ้นมาที่ชั้น 9 เพื่อชื่นชมความงดงามของเมืองขอนแก่น

วัดหนองแวงพระอารามหลวง (7)

สำหรับเส้นทางการมาที่วัดหนองแวงพระอารามหลวง จากสี่แยกประตูเมืองมาตาม ถ.ศรีจันทร์ ผ่านตลาดบางลำพู แล้วเลี้ยวขวาเข้า ถ.กลางเมืองผ่านสถานีตำรวจอำเภอเมือง และวัดกลาง ไปประมาณ 400 เมตร วัดหนองแวงอยู่ซ้ายมือ ผู้ที่สนใจสามารถเข้าชมได้ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.

ชื่นชมความงดงามของศาสนสถานคู่บ้านคู่เมืองของชาวขอนแก่น ที่ ‘วัดหนองแวงพระอารามหลวง’